Advertise Here

ดอกไม้เมืองไทย

- Another Blogger Blog's

Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Samanea saman.
ชื่อสามัญ : Rain Tree, Monkeypod Tree, Ohai.
วงศ์ : LEGUMINOSAE (The Pea Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ก้ามปู, ก้ามกราม, ฉำฉา, สารสา, ลัง

จามจุรีหรือก้ามปูเป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้าง สูงประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร เปลือกสีคล้ำ แตกสะเก็ดเป็นร่องระแหงโตๆ ตลอดต้น ใบรวมเป็นแผงเรียงขนานคู่กัน ใบแผงหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๕-๓๕ เซนติเมตร และแตกแขนงใบย่อยออกขนานกันเป็นคู่ๆ ใบแผงหนึ่งๆ มีตั้งแต่ ๗-๑๐ คู่ ใบย่อยรูปกลมรี ปลายใบมน รูปใบมักโค้งเข้าหากันเป็นคู่ ขนาดใบยาวตั้งแต่ ๓-๕ เซนติเมตร

ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามยอดปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกสีเขียวอ่อนยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร ช่อหนึ่งๆ มีดอกตั้งแต่ ๒๕-๓๕ ดอก และมักบานพร้อมกัน ดอกสีชมพูรูปกรวยขนาดเล็กมี ๖ กลีบ แต่จะมีเส้นเกสรตัวผู้ยาวเป็นพู่ฟูล้นดอกออกมา ลักษณะคล้ายแส้เล็กๆ เกสรตัวผู้ตอนบนสีชมพู ตอนล่างสีขาวยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกได้ทั้งในฤดูร้อนและฤดูฝน เป็นต้นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ขึ้นและเติบโตได้เร็วในดินเกือบทุกชนิด

จามจุรี เป็นต้นไม้ที่ประชาชนในภาคเหนือนิยมปลูกไว้เพื่อเลี้ยงครั่ง เนื้อไม้ของจามจุรีนั้นมีลักษณะพิเศษคือมีลวดลายสวยงาม อ่อนเหนียวและเบา จึงนิยมใช้ต่อเป็นลังใส่สินค้าอุตสาหกรรมหนัก จึงเรียกกันว่าลังไม้ฉำฉา ปัจจุบันนิยมใช้ไม้นี้ในงานหัตถกรรมหลายประเภท จากจุรีเป็นไม้ซึ่งมีถิ่นเกิดอยู่ในอเมริกา และนำเข้ามาปลูกในบ้านเราตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Schima wallichii.
ชื่อพ้อง : Schima noronhae.
ชื่อสามัญ : Mung-Tan.
ชื่อไทยพื้นเมือง : พังตาน, คายโซ้, กาโซ้, ทะโล้, สารภีป่า

มังตาน ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ๋ มักเกิดตามป่าดงดิบบนเขาทุกภาคทั่วประเทศ มีลำต้นสูงเสลาเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มแน่น เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีขาวขุ่นๆ คล้ายละอองประอยู่ตลอดลำต้นและกิ่งก้าน หากใช้มืดฝานเปลือกในเปิดออกจะมองเห็นเสี้ยนของไม้นี้ใสเป็นแวว หากเสี้ยนถูกกระทบผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นพุพองได้หรือถ้าเสี้ยนเข้าตาก็อาจตาบอดพิการได้ ต้นไม้นี้ อาจสูงได้ถึง 20 เมตรหรือกว่านั้น

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับทางกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง เนื้อใบหนารีรูปหอกปลายใบแหลมขอบใบเรียบเกลี้ยง ยาวประมาณ 10 เซ็นติเมตรดอดออกเป็นช่อตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวมี 5 กลีบ มีเกษรผู้จำนวนมากมายเป็นพู่สีเหลืองรวมกระจุกอยู่ตอนกลางดอก กลีบดอกแต่ละกลีบงองุ้มเข้าหาเกษรเป็นลักษณะคล้ายช้อนขนาดดอกกว้างประมาณ 5-6 เซ็นติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกระหว่างเดือน กุมภาพันธุ์-เมษายน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ดเป็นไม้ ที่เพาะง่ายและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกสภาพ

มังตานเป็นต้นไม้ที่มีค่าในทางเศรษฐกิจสูง เพราะเนื้อไม้มีประโยชน์ในงานก่อสร้าง และในงานหัตกศิลปหลายประเภท ทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์สูงอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้เปลือกของต้นมังตานก็ยังใช้ทุบแช่น้ำเบื่อปลาได้เช่นเดียวกับโล่ติ้นอีกด้วย
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Pluchai indica.
ชื่อสามัญ : Kloo.
วงศ์ : COMPOSITAE. (The Daisy Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ขลู, คลู, หนวดงิ้ว, หนาดวัว

ขลู่ เป็นพันธุ์ไม้ของเมืองไทย มักขึ้นอยู่เป็นกอตามป่าละเมาะหรือตามที่ลุ่มริมลำห้วย หนอง ตามริมนา หรือคันนาทั่วไป ขลู่มีลำต้นอวบอ้วน ต้น หรือกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาล ผิวเปลือกของลำต้นเรียบเกลี้ยง ต้นสูงประมาณ ๓-๔ ฟุต ใบกลมหนา มีจักริมใบ เนื้อใบสากกระด้าง รูปใบคล้ายใบพุทรา ขนาดใบยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร

ดอกมีขนาดเล็กเป็นฝอยละอองสีขาว หรือสีน้ำตาลจางๆ ออกดอกเป็นช่อตามบริเวณยอด ในช่อหนึ่งๆ มีดอกติดกลุ่มกันเป็นแผงเป็นแพ นับจำนวนร้อยๆ ดอก ช่อดอกแผงหนึ่งๆ มีขนาดกว้างประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตร ขลู่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือเพาะเมล็ด เป็นต้นไม้ที่แพร่พันธุ์ได้ง่าย อยู่ได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ออกดอกตลอดปี เติบโตเร็วและขึ้นได้ในสถาพดินเกือบทุกชนิด

ต้นและใบของพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพร รักษาโรคได้หลายอย่าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้นิยมใช้ใบขลู่ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วไฟให้หอม นำไปชงน้ำร้อยแทนใบชารับประทานได้
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Alpinia officinarum.
ชื่อสามัญ : Jewelly Ginger.
วงศ์ : ZIGIBERACEAE. (The Ginger Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ข่าเล็ก

ข่าลิงเป็นพันธุ์ไม้ป่าของเมืองไทยแต่เป็นข่าขนาดเล็ก ลำต้นขึ้นเป็นกอเกิดจากหัวหรือเหง้าจากใต้ดิน สูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ใบบางสีเขียวรีรูปหอก ปลายใบแหลม กว้างประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร ก้านใบยาว ทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มต้น ออกใบสลับทิศทางในระนาบเดียวกัน ต้น หัว หรือใบ มีกลิ่นฉุนแรง และมีรสเย็นกว่าข่าชนิดอื่น

ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตรงบริเวณส่วนยอดของลำต้น เป็นสีส้มสีเหลืองกลัก มองคล้ายละอองอัญมณีพราวระยับงดงามจับตามาก ช่อดอกหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตรหรือยาวกว่านั้น เมื่อดอกแก่เต็มที่หรือบานใกล้จะหมดช่อแล้ว ช่อดอกของข่าลิงจะโค้งห้อยลง

ข่าลิงขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการแยกหัวไปปลูก หัวหรือเหง้าของข่าลิงมีขนาดเล็กเท่าหัวกระชาย แต่ยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร มักขึ้นอยู่ในป่าดงดิบตามซอกหินริมลำห้วย ในที่อับชื้น แต่ดอกจะดกดื่นมองพรั่งพราวไปทั่วป่าในฤดูฝน ข่าลิงเป็นพืชสมุนไพรใช้ประโยชน์ทางแก้โรคต่างๆ ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะหัวของข่าลิงใช้เป็นส่วนผสมในการทำแป้งเหล้าได้อีกด้วย
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Alpinia speciosa.
ชื่อสามัญ : Shell Ginger.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE (The Ginger Family)

ในปัจจุบันนี้มีผู้รู้บางท่านเรียกข่าคน เพี้ยนเป็น "ข่าคม" ไป จึงอยากทำให้เกิดความไขว้เขวได้เพราะความจริงนั้น ข่าคนนี้เป็นจ่าที่คนในป่าในดงในภาคกลาง เช่น จังหวัด สระบุรี ลพบุรี ปราจีนบุรีและนครนายก มักจะเรียกชื่อ เป็นพืชคู่เคียงกับข่าลิง (Alpinia officinarum) มาก่อนแต่นานมาแล้ว เป็นทำนองให้รู้ว่าข่าคนต้นใหญ่กว่าข่าลิงอะไรอย่างนี้

ข่าคนเป็นพันธุ์ไม้ป่าเมืองไทยชนิดนึ่ง ซึ่งมีลำต้นขึ้นหนาแน่นเป็นกอเกิดจากหัวหรือเหง้าในดิน โผล่เป็นลำกลมแข็งขึ้นมาเหนือดิน มีข้อปล้องคาดอยู่เป็นระยะตลอดลำต้น อาจสูงได้ตั้งแต่ ๖-๑๒ ฟุต ใบสสีเขียวสด เนื้อใบหนาทรงเรียวยาวรูปหอกปลายใบแหลมเฉียบ มีก้านใบทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มลำต้น ขนาดใบกว้างประมาณ ๓-๔ นิ้ว ยาวตั้งแต่ ๑.๕-๒ ฟุต ดอกออกเป็นช่อมีก้านดอกเป็นลำแข็ง เกิดจากกลางกอ สูงขึ้นไปเกือบระดับเดียวกับความสูงของกอ กลุ่มดอกรวมเป็นช่ออยู่ตอนปลายก้าน ช่อหนึ่งๆ มีดอกตั้งแต่ ๒๐-๓๕ ดอก แต่ละผลัดกันบานครั้งละ ๓-๔ ดอก ช่อดอกหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๗-๑๐ นิ้ว ดอกเป็นหลอดรูปกระดิ่งภายนอกสีขาว ภายในสีเหลือง แดง ม่วง เป็นลายสลับกันอยู่สวยงาม ดอกมีขนาดกว้างยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหัวหรือเหง้าไปปลูก เป็นไม้ในที่รำไร ไม่ชอบแสงแดดมาก มักพบขึ้นอยู่ตามป่าดงดิบบนเขาที่มีความชุ่มชื้นสูง และเคยพบประปรายในป่าดงดิบแล้งบางแห่ง
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Alpinia siamensis.
ชื่อสามัญ : Thai Ginger.
วงศ์ : ZIGIBERACEAE. (The Ginger Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ข่าแกง, ข่าหลวง, ข่าใหญ่, ข่า

ข่าไทย ก็คือข่าที่คนไทยรู้จักนำหัวหรือเหง้ามาปรุงรสและกลิ่นในเครื่องแกงนั่นเอง

ข่าไทยเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อนขึ้นเป็นกลุ่มเป็นกอ ลำต้นเป็นก้านกลมแข็ง เกิดจากหัวหรือเหง่าซึ่งมีลักษณะเป็นแง่งสีขาวจากใต้ดิน สูงประมาณ ๑๒๐ เซนติเมตร ใบรูปหอกสีเขียวเข้มหนายาวประมาณ ๑๒-๑๕ เซนติเมตร มีก้านใยทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มลำต้น ดอกออกเป็นช่อใหญ่ออกดอกตามยอดก้านดอกแข็งดอกมีขนาดเล็กผลัดกันบานครั้งละ ๔-๖ ดอก กลีบดอกมีสีขาวประด้วยจุดสีแดงหรือม่วง ดอกช่อหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๑๕-๑๖ เซนติเมตร มีกลิ่นหอมเผ็ดๆ เล็กน้อย มักออกดอกในฤดูร้อน หัวหรือแว่งและต้นอ่อนใช้ต้มรับประทานหรือเป็นอาหารผัดได้อีกด้วย

ข่าไทยเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์มากชนิดหนึ่ง ขยายพันธุ์ด้วการแยกหัวหรือเหง้าไปปลูกในดินร่วนซุย ในที่ร่มรำไรซึ่งมีความชุ่มชื้นมากๆ นับว่าเป็นพืชสวนครัวที่สำคัญชนิดหนึ่งของคนไทยมาแต่ดึกดำบรรพ์แล้ว และเป็นพันธุ์ไม้ซึ่งมีถิ่นกำเนิดในป่าเมืองไทยนี้เอง จึงได้ชื่อในทางพฤกษศาสตร์ว่า "ข่าไทย"
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Leea rubra.
ชื่อสามัญ : Ka-Tung-Bi.
วงศ์ : VITACEAE. (The Grape Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : เขือง, คะนางใบ, ตองด้อม

แต่เดิมนักพฤกษศาสตร์จัดอันดับกะตังใบไว้ในวงศ์ LEEACEAE ภายหลังคงเห็นว่าพืชในวงศ์นี้มีอยู่เพียงสกุลเดียว คือสกุลเลีย (Genus Leea) และมีอยู่เพียงไม่มากชนิดนัก หรือจะด้วยเหตุผลใดไม่ทราบแน่ชัด นักพฤกษศาสตร์จึงยกพันธุ์ไม้ในวงศ์นี้ไปรวมอยู่ในวงศ์เดียวกับพืชจำพวกองุ่น ซึ่งมีรูปวิธานในชีวพฤกษ์ลม้ายใกล้เคียงกันให้ได้รวมอยู่ในวงศ์เดียวกันเสียเลย กะตังใบจึงถูกจัดให้อยู่ในวงศ์ VITACEAE นับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.๒๕๑๐ เป็นต้นมา ส่วนวงศ์สีเอชิอี้นั้นก็เป็นอันว่ายุบยกเลิกกันไป

กะตังใบ เป็นพืชซึ่งกระจากยพันธุ์อยู่ในเขตร้อนหลายแห่ง เช่นในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา เป็นต้น เป็นพันธุ์ไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑-๒ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านเป็นเหลี่ยมเฟือง อาจเป็นได้ตั้งแต่ ๘-๑๐ เหลี่ยม ใบรวมเป็นแผงๆ ละ ๕ ใบ รูปใบบางแต่หยาบระคาย ขอบใบเป็นจักละเอียด รูปใบมนรี ปลายใบแหลม ขนาดใบยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร แผงใบหมู่หนึ่งๆ ยาวประมาณ ๑-๑.๕ ฟุต

ดอกออกเป็นช่อตามส่วนยอด ก้านช่อดอกชูยาวเป็นก้านเฟืองสีแดงคล้ำ ในก้านช่อดอกแต่ละช่อยังแตกแขนงเป็นช่อย่อยได้อีกมากมายหลายช่อ และมีดอกขนาดเกสีแดงเข้มอัดเรียงแน่นอยู่เป็นแพ เป็นพันธุ์ไม้มีดอกตลอดปี ขยายพันธุ์ด้วยการตัดกิ่งปักชำ หรือเพาะเมล็ด ผลของกะตังใบ มีลักษณะเป็นพูสามพูคล้ายผลมะยม เมื่อแก่จัดจะเป็นสีดำเข้ม พันธุ์ไม้ชนิดนี้มีขึ้นอยู่ทั่วไปกือบทุกภาคของประเทศไทย และเป็นพืชสมุนไพรชนิดหนึ่งอีกด้วย
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Phaeomeria magnifica.
ชื่อสามัญ : Torch Ginger.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE. (The Ginger Family.)

บางคนเรียกกาหลาว่า "ดาหลา" ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคำว่าดาหลาไม่มีคำแปล แต่กาหลานั้นแปลว่าเหมือนดอกไม้ กาหลาจึงควรเป็นชื่อที่ถูกต้องมากกว่าดาหลา เพราะกาหลาเป็นดอกไม้จำพวกขิงข่าชนิดเดียวที่ดอกของมันมีรูปร่างลักษณะเหมือนดอกไม้ คล้ายดอกบัวมากว่าขิงข่าชนิดอื่นๆ

บางคนก็เข้าใจว่ากาหลาคือกะทือหรือไพล จึงเรียกกาหลาว่า"กะทือ" ซึ่งก็ยังไม่ถูกต้องอีก เพราะกะทือหรือไพลนั้นนักพฤกษศาสตร์จำแนกไว้ให้อยู่ในสกุล Curcuma และสกุล Zingiber แมกไม้ในวงนี้การจำแนกประเภทออกเป็นสกุล (Genus) ดูออกจะยังสับสนกันอยู่มาก

กาหลา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีต้นและใบอย่างพวกขิงข่า กล่าวคือ ต้นเจริญเติบโตออกมาจากแง่งหรือหัวซึ่งฝังอยู่ในดิน ต้นกาหลามักขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นกอ สูงประมาณ ๑-๑.๕ เมตร ใบสีเขียวเข้ม มีก้านใบทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มลำต้น ลักษระใบแบนรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ ขนาดใบกว้างประมาณ ๖ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๐-๑๔ นิ้ว

ดอกสีแดงสดหรือสีชมพู ออกดอกเดี่ยว มีกลีบซ้อนทับกันหลายชั้น กลีบชั้นนอกจะมีขนาดใหญ่และค่อยลดขนาดเล็กลงเป็นลำดับในวงกลีบชั้นใน กลีบดอกชั้นในสุดจะเปลี่ยนสภาพเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกระปุกยอดแหลมสวยงามมาก ขนาดดอกกว้างตั้ง ๔-๖ นิ้ว และเป็นดอกไม้ที่อยู่ทนได้หลายวัน

ดอกกาหลาจะแยกออกจากต้นต่างหาก ก่อนออกดอกจะแทงก้านดอกขึ้นมาจากโคนกอ ก้านดอกของกาหลามีลักษณะเป็นปล้องข้อคล้ายลำไผ่เล็กๆ สีเขียวสด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕ ฟุต หรือกว่านั้น ออกดอกในฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ เป็นไม้ชอบที่ร่มรำไร ชอบสภาพดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นมากๆ เป็นต้นไม้ที่มีกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนทั่วไป แต่นักพฤกษศาสตร์บางกลุ่มก็สืบความได้ว่า กาหลาเป็นพืชพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในหมู่เกาะอินดีส
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Mussaenda Sanderiana.
ชื่อสามัญ : Butterfly Flower.
วงศ์ : RUBIACEAE. (The Madder Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : กำเบ้อ, กะเบ้อ, กะเบ้อขาว, พอแต, ผีเสื้อ

แก้มขาวเป็นพันธ์ไม้ป่าของไทย ซึ่งจะพบเห็นตามป่าละเมาะ หรือตามชายป่าดงดิบเกือบทุกภาคของประเทศไทย พันธุ์ไม้นี้จัดอยู่ในสกุลเดียวกับดอนย่า ที่นิยมปลูกกันอยู่ในบ้านเราอย่างกว้างขวางนี่เอง หากแต่ว่าดอนย่าที่นิยมปลูกนั้นเป็นพันธุ์ไม้ลูกผสม แต่แก้มขาวเป็นดอนย่าพันธุ์พื้นเมืองของไทยเรานี่เอง

แก้มขาวเป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก กิ่งก้านยาวเก้งก้างจนมองคล้ายจะเป็นไม้กิ่งเลี้อย ครั้นเมื่อต้นสูงทานน้ำหนักใบของตัวเองไม่ไหว กิ่งก้านก็จะลู่ราบลงกับพื้นดินหรืออาศัยพาดพิงต้นไม้อื่นให้ยืนต้นอยู่ได้สูงตั้งแต่ ๑.๕-๔ เมตร

เท่าที่เคยพบมานั้นเห็นว่าแก้มขาวที่เกิดอยู่บนภูเขาสูงต่างๆ ทางภาคเหนือ เช่นในเทือกเขาผีปันน้ำหรือในเทือกเขาถนนธงชัยนั้น มักจะสมบูรณ์เจริญงามกว่าแก้มขาวในภาคอื่นๆ เพราะแต่ละพุ่มแต่ละกอที่พบนั้นมักจะออกดอกดก มีขนาดดอกโตจนมองขาวโพลนไปทั้งกอทีเดียว

แก้มขาวมีลักษณะแปลกกว่าพันธุ์ไม้อื่นๆ ตรงที่ว่า ตามลำต้นและกิ่งก้านจะมีรูเล็กๆ เป็นจุดสีขาว ซึ่งทำหน้าที่เป็นช่องระบายอากาศประอยู่ทั่วไปตลอดลำต้น

แก้มขาวเป็นไม้ใบเดี่ยว ทรงใบรูปมนรี ปลายใบแหลม ก้านใบสั้นติดข้อต้น ออกใบเบนคู่ตรงข้ามตามข้อต้น แต่ละคู่ใบจะสลับขวางกันไป ใบสีเขียวเข้มเนื้อใบยับย่นเป็นลอนขวางตามใบ และมีขนละเอียดอ่อนนุ่มปกคลุมอยู่ตลอดใบ ขนาดใบยาวตั้งแต่ ๓-๘ เซนติเมตร กล่มใบสีขาวคล้ายสีของงาช้างตรงบริเวณส่วนยอดของแก้วขาวนั้นคือใบประดับ (Bracts)

ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่งอยู่กลางใบประดับ และออกดอกรวมกลุ่มกันเป็นแพเบียดแน่นกันอยู่มากมายหลายดอก แต่จะพลัดกันบานครั้งละ ๒-๔ ดอก แต่เป็นดอกขนาดเล็ก ลักษระคล้ายดอกเข็ม (Ixora) เป็นสีเหลืองหรือสีส้ม ดอกมี ๕ แฉก เมื่อบานเต็มที่จึงมองเหมือนรูปดาวดวงเล็กๆ วงในดอก(eye) สีเหลืองอ่อน ขนาดดอกกว้าง ๖-๘ มิลลิเมตร ยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร

แก้มขาวมีใบประดับเป็นสีงาช้าง หรือสีเหลืองนวลๆ แผ่เป็นวงกว้างล้อมรอบช่อดอก ลักษณะของใบประดับมีรูปร่างคล้ายใบ คือมีรูปมนรี ปลายมน ทรงป้อมสั้นกว่าใบ และมีรอยยับย่นในเนื้อใบประดับเช่นกับใบ แต่ทว่ามีก้านใบยาวไม่สั้นกุดอย่างใบแท้ ก้านใบดังกล่าวยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร ขนาดใบประดับยาวประมาณ ๔-๖ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ในช่อหนึ่งๆ อาจมีใบประดับตั้งแต่ ๓-๘ ใบหรือมากกว่านั้น

แก้มขาวเป็นพันธุ์ไม้ที่ออกดอกตลอดปีเช่นเดียวกับดอนย่าชนิดอื่นๆ ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือตอนกิ่ง แต่เป็นพันธุ์ไม้ที่ไม่ชอบแสงแดดจัดมากนัก ขึ้นเจริญงามในที่ชุ่มชื้น ในสภาพพื้นที่ซึ่งมีปุ๋ยหมักอยู่บ้าง นับว่าเป็นพันธุ์ไม้ไทยที่เหมาะจะนำมาปลูกเป็นไม้ประดับบ้านได้อย่างสวยงามอีกชนิดหนึ่ง
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Wrightia religiosa.
ชื่อสามัญ : Moke.
วงศ์ : APOCYNACEAE. (The Dogbane Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : โมกบ้าน, โมกกอ, ปิดจงวา, หลักป่า

โมกเป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงประมาณ ๑-๓ เมตร มีเปลือกของลำต้านและกิ่งก้านเป็นสีค่อนข้างดำ ใบมีขนาดเล็กสีเขียวเป็นมัน ลักษณะคล้ายใบแก้ว (แต่โมกเป็นไม้ใบเดี่ยวไม่รวมเป็นแผงอย่างใบแก้ว) ใบรูปมนรี ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบเกลี้ยง ขนาดใบยาวประมาณ ๑.๕-๕ เซนติเมตร

ดอกขนาดเล็กมีกลิ่นหอม สีขาวมี ๕ กลีบ ก้านดอกเล็กเรียว ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามปลายกิ่ง ช่อละ ๕-๗ ดอก ก้านดอกห้อยยาว ดอกโมกคว่ำหน้าลงสู่ดิน ขนาดดอกกว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร ดอกจะมีกลิ่นหอมกว่าปกติในเวลาเย็นถึงค่ำ พันธุ์ไม้ชนิดนี้ออกดอกตลอดปี

โมกออกผลเป็นฝัก และออกฝักเป็นคู่ แต่ละฝักจะโค้งเข้าหากัน ฝักโมกมีจุดปะเป็นสีกระดำกระด่าง ภายในฝักบรรจุเมล็ดอยู่มากมาย ฝักยาวประมาณ ๑๕ เซนติเมตร ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ดหรือตอน ปลูกง่ายขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกชนิด
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Quassia amara
ชื่อสามัญ : Bitterwood.
วงศ์ : SIMARUBACEAE. (The simaruba Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ประทัด, ประทัดจีน, ประทัดทอง, ประทัดใหญ่

อมรา เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก อาจสูงได้ถึง ๒๕ ฟุต นักพฤกษศาสตร์เชื่อกันว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล เม็กซิโก และทางแถบหมู่เกาะอินดีสตะวันตก

ทรงต้นมีกิ่งก้านเรียวระหง ใบเป็นใบรวมก้านใบสั้นต่อกันเป็นรูปไม้กางเขน ๒ ชั้น กล่มใบกล่มหนึ่งๆ ประกอบด้วยใบยอด ๗ ใบ มีใบขนาดเล็กเรียวต่อกัน ๒ ใบ ซึ่งทำหน้าที่เป็นก้านใบ ใบแท้เป็นรูปมนรีมี ๕ ใบ โคนใบแท้แหลมเรียว ปลายใบเป็นติ่ง ใบบางสีเขียวเข้ม เนื้อใบละเอียด ขอบใบเรียบเกลี้ยงไม่มีจัก ขนาดใบยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร กลุ่มใบรวมกลุ่มหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๐-๒๕ เซนติเมตร

ดอกออกเป็นช่อตามปลายกิ่งส่วนยอด ยอดละ ๒-๔ ช่อ ในช่อหนึ่งๆ ประกอบด้วยหลอดอกสีแดงสดประมาณ ๑๕-๒๐ ดอำ กลีบดอกไม่บานอ้าออกอย่างดอกอื่น เมื่อดอกแก่จัดจะเห็นเกสรผู้โผล่ยาวยื่นออกมาพ้นหลอดดอก ขนาดดอกยาวประมาณ ๔-๕ เซนติเมตร ดอกช่อหนึ่งๆ ยาวได้ถึง ๒๐ เซนติเมตร ออกดอกเป็นระยะๆตลอดปี

พันธุ์ไม้ชนิดนี้ไม่ชอบอยู่ในที่แสงแดดจัดจ้ามาก ควรปลูกในที่ร่มรำไร และในดินที่มีความชุ่มชื้นพอควร ขยายพันธุ์ได้ทั้งวิธีเพาะเมล็ดตอน หรือปักชำ