Advertise Here

ดอกไม้เมืองไทย

- Another Blogger Blog's

Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Samanea saman.
ชื่อสามัญ : Rain Tree, Monkeypod Tree, Ohai.
วงศ์ : LEGUMINOSAE (The Pea Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ก้ามปู, ก้ามกราม, ฉำฉา, สารสา, ลัง

จามจุรีหรือก้ามปูเป็นไม้เนื้ออ่อนยืนต้นขนาดใหญ่ แตกกิ่งก้านสาขาเป็นพุ่มกว้าง สูงประมาณ ๑๐-๑๕ เมตร เปลือกสีคล้ำ แตกสะเก็ดเป็นร่องระแหงโตๆ ตลอดต้น ใบรวมเป็นแผงเรียงขนานคู่กัน ใบแผงหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๒๕-๓๕ เซนติเมตร และแตกแขนงใบย่อยออกขนานกันเป็นคู่ๆ ใบแผงหนึ่งๆ มีตั้งแต่ ๗-๑๐ คู่ ใบย่อยรูปกลมรี ปลายใบมน รูปใบมักโค้งเข้าหากันเป็นคู่ ขนาดใบยาวตั้งแต่ ๓-๕ เซนติเมตร

ดอกออกเป็นช่อสั้นๆ ตามยอดปลายกิ่ง มีก้านช่อดอกสีเขียวอ่อนยาวประมาณ ๖-๘ เซนติเมตร ช่อหนึ่งๆ มีดอกตั้งแต่ ๒๕-๓๕ ดอก และมักบานพร้อมกัน ดอกสีชมพูรูปกรวยขนาดเล็กมี ๖ กลีบ แต่จะมีเส้นเกสรตัวผู้ยาวเป็นพู่ฟูล้นดอกออกมา ลักษณะคล้ายแส้เล็กๆ เกสรตัวผู้ตอนบนสีชมพู ตอนล่างสีขาวยาวประมาณ ๔ เซนติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกได้ทั้งในฤดูร้อนและฤดูฝน เป็นต้นไม้กลางแจ้ง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด ขึ้นและเติบโตได้เร็วในดินเกือบทุกชนิด

จามจุรี เป็นต้นไม้ที่ประชาชนในภาคเหนือนิยมปลูกไว้เพื่อเลี้ยงครั่ง เนื้อไม้ของจามจุรีนั้นมีลักษณะพิเศษคือมีลวดลายสวยงาม อ่อนเหนียวและเบา จึงนิยมใช้ต่อเป็นลังใส่สินค้าอุตสาหกรรมหนัก จึงเรียกกันว่าลังไม้ฉำฉา ปัจจุบันนิยมใช้ไม้นี้ในงานหัตถกรรมหลายประเภท จากจุรีเป็นไม้ซึ่งมีถิ่นเกิดอยู่ในอเมริกา และนำเข้ามาปลูกในบ้านเราตั้งแต่ครั้งสมัยรัชกาลที่ ๕
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Schima wallichii.
ชื่อพ้อง : Schima noronhae.
ชื่อสามัญ : Mung-Tan.
ชื่อไทยพื้นเมือง : พังตาน, คายโซ้, กาโซ้, ทะโล้, สารภีป่า

มังตาน ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ๋ มักเกิดตามป่าดงดิบบนเขาทุกภาคทั่วประเทศ มีลำต้นสูงเสลาเปลาตรง เรือนยอดเป็นพุ่มแน่น เปลือกของลำต้นเป็นสีน้ำตาลอ่อน มีจุดสีขาวขุ่นๆ คล้ายละอองประอยู่ตลอดลำต้นและกิ่งก้าน หากใช้มืดฝานเปลือกในเปิดออกจะมองเห็นเสี้ยนของไม้นี้ใสเป็นแวว หากเสี้ยนถูกกระทบผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นพุพองได้หรือถ้าเสี้ยนเข้าตาก็อาจตาบอดพิการได้ ต้นไม้นี้ อาจสูงได้ถึง 20 เมตรหรือกว่านั้น

ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับทางกันเป็นกลุ่มตามปลายกิ่ง เนื้อใบหนารีรูปหอกปลายใบแหลมขอบใบเรียบเกลี้ยง ยาวประมาณ 10 เซ็นติเมตรดอดออกเป็นช่อตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกสีขาวมี 5 กลีบ มีเกษรผู้จำนวนมากมายเป็นพู่สีเหลืองรวมกระจุกอยู่ตอนกลางดอก กลีบดอกแต่ละกลีบงองุ้มเข้าหาเกษรเป็นลักษณะคล้ายช้อนขนาดดอกกว้างประมาณ 5-6 เซ็นติเมตร ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกระหว่างเดือน กุมภาพันธุ์-เมษายน ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเม็ดเป็นไม้ ที่เพาะง่ายและขึ้นได้ดีในดินเกือบทุกสภาพ

มังตานเป็นต้นไม้ที่มีค่าในทางเศรษฐกิจสูง เพราะเนื้อไม้มีประโยชน์ในงานก่อสร้าง และในงานหัตกศิลปหลายประเภท ทั้งยังเป็นพืชสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์สูงอีกชนิดหนึ่ง นอกจากนี้เปลือกของต้นมังตานก็ยังใช้ทุบแช่น้ำเบื่อปลาได้เช่นเดียวกับโล่ติ้นอีกด้วย
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Pluchai indica.
ชื่อสามัญ : Kloo.
วงศ์ : COMPOSITAE. (The Daisy Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ขลู, คลู, หนวดงิ้ว, หนาดวัว

ขลู่ เป็นพันธุ์ไม้ของเมืองไทย มักขึ้นอยู่เป็นกอตามป่าละเมาะหรือตามที่ลุ่มริมลำห้วย หนอง ตามริมนา หรือคันนาทั่วไป ขลู่มีลำต้นอวบอ้วน ต้น หรือกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาล ผิวเปลือกของลำต้นเรียบเกลี้ยง ต้นสูงประมาณ ๓-๔ ฟุต ใบกลมหนา มีจักริมใบ เนื้อใบสากกระด้าง รูปใบคล้ายใบพุทรา ขนาดใบยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร

ดอกมีขนาดเล็กเป็นฝอยละอองสีขาว หรือสีน้ำตาลจางๆ ออกดอกเป็นช่อตามบริเวณยอด ในช่อหนึ่งๆ มีดอกติดกลุ่มกันเป็นแผงเป็นแพ นับจำนวนร้อยๆ ดอก ช่อดอกแผงหนึ่งๆ มีขนาดกว้างประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตร ขลู่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือเพาะเมล็ด เป็นต้นไม้ที่แพร่พันธุ์ได้ง่าย อยู่ได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ออกดอกตลอดปี เติบโตเร็วและขึ้นได้ในสถาพดินเกือบทุกชนิด

ต้นและใบของพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพร รักษาโรคได้หลายอย่าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้นิยมใช้ใบขลู่ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วไฟให้หอม นำไปชงน้ำร้อยแทนใบชารับประทานได้
Comments: (0)
ชื่อพฤกษศาสตร์ : Alpinia officinarum.
ชื่อสามัญ : Jewelly Ginger.
วงศ์ : ZIGIBERACEAE. (The Ginger Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ข่าเล็ก

ข่าลิงเป็นพันธุ์ไม้ป่าของเมืองไทยแต่เป็นข่าขนาดเล็ก ลำต้นขึ้นเป็นกอเกิดจากหัวหรือเหง้าจากใต้ดิน สูงประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร ใบบางสีเขียวรีรูปหอก ปลายใบแหลม กว้างประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๘ เซนติเมตร ก้านใบยาว ทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มต้น ออกใบสลับทิศทางในระนาบเดียวกัน ต้น หัว หรือใบ มีกลิ่นฉุนแรง และมีรสเย็นกว่าข่าชนิดอื่น

ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อตรงบริเวณส่วนยอดของลำต้น เป็นสีส้มสีเหลืองกลัก มองคล้ายละอองอัญมณีพราวระยับงดงามจับตามาก ช่อดอกหนึ่งๆ ยาวประมาณ ๑๐-๒๐ เซนติเมตรหรือยาวกว่านั้น เมื่อดอกแก่เต็มที่หรือบานใกล้จะหมดช่อแล้ว ช่อดอกของข่าลิงจะโค้งห้อยลง

ข่าลิงขยายพันธุ์ ด้วยวิธีการแยกหัวไปปลูก หัวหรือเหง้าของข่าลิงมีขนาดเล็กเท่าหัวกระชาย แต่ยาวประมาณ ๓-๔ เซนติเมตร มักขึ้นอยู่ในป่าดงดิบตามซอกหินริมลำห้วย ในที่อับชื้น แต่ดอกจะดกดื่นมองพรั่งพราวไปทั่วป่าในฤดูฝน ข่าลิงเป็นพืชสมุนไพรใช้ประโยชน์ทางแก้โรคต่างๆ ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะหัวของข่าลิงใช้เป็นส่วนผสมในการทำแป้งเหล้าได้อีกด้วย