
ชื่อสามัญ : Kloo.
วงศ์ : COMPOSITAE. (The Daisy Family.)
ชื่อไทยพื้นเมือง : ขลู, คลู, หนวดงิ้ว, หนาดวัว
ขลู่ เป็นพันธุ์ไม้ของเมืองไทย มักขึ้นอยู่เป็นกอตามป่าละเมาะหรือตามที่ลุ่มริมลำห้วย หนอง ตามริมนา หรือคันนาทั่วไป ขลู่มีลำต้นอวบอ้วน ต้น หรือกิ่งก้านเป็นสีน้ำตาล ผิวเปลือกของลำต้นเรียบเกลี้ยง ต้นสูงประมาณ ๓-๔ ฟุต ใบกลมหนา มีจักริมใบ เนื้อใบสากกระด้าง รูปใบคล้ายใบพุทรา ขนาดใบยาวประมาณ ๓ เซนติเมตร
ดอกมีขนาดเล็กเป็นฝอยละอองสีขาว หรือสีน้ำตาลจางๆ ออกดอกเป็นช่อตามบริเวณยอด ในช่อหนึ่งๆ มีดอกติดกลุ่มกันเป็นแผงเป็นแพ นับจำนวนร้อยๆ ดอก ช่อดอกแผงหนึ่งๆ มีขนาดกว้างประมาณ ๘-๑๐ เซนติเมตร ขลู่ขยายพันธุ์ด้วยการปักชำหรือเพาะเมล็ด เป็นต้นไม้ที่แพร่พันธุ์ได้ง่าย อยู่ได้ทั้งกลางแจ้งและในร่ม ออกดอกตลอดปี เติบโตเร็วและขึ้นได้ในสถาพดินเกือบทุกชนิด
ต้นและใบของพืชชนิดนี้เป็นสมุนไพร รักษาโรคได้หลายอย่าง ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีผู้นิยมใช้ใบขลู่ตากแดดให้แห้งแล้วนำไปคั่วไฟให้หอม นำไปชงน้ำร้อยแทนใบชารับประทานได้
0 comments:
Post a Comment