Advertise Here

ดอกไม้เมืองไทย

- Another Blogger Blog's

ชื่อพฤกษศาสตร์ : Phaeomeria magnifica.
ชื่อสามัญ : Torch Ginger.
วงศ์ : ZINGIBERACEAE. (The Ginger Family.)

บางคนเรียกกาหลาว่า "ดาหลา" ซึ่งหากพิจารณาแล้วก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะคำว่าดาหลาไม่มีคำแปล แต่กาหลานั้นแปลว่าเหมือนดอกไม้ กาหลาจึงควรเป็นชื่อที่ถูกต้องมากกว่าดาหลา เพราะกาหลาเป็นดอกไม้จำพวกขิงข่าชนิดเดียวที่ดอกของมันมีรูปร่างลักษณะเหมือนดอกไม้ คล้ายดอกบัวมากว่าขิงข่าชนิดอื่นๆ

บางคนก็เข้าใจว่ากาหลาคือกะทือหรือไพล จึงเรียกกาหลาว่า"กะทือ" ซึ่งก็ยังไม่ถูกต้องอีก เพราะกะทือหรือไพลนั้นนักพฤกษศาสตร์จำแนกไว้ให้อยู่ในสกุล Curcuma และสกุล Zingiber แมกไม้ในวงนี้การจำแนกประเภทออกเป็นสกุล (Genus) ดูออกจะยังสับสนกันอยู่มาก

กาหลา เป็นพันธุ์ไม้ที่มีต้นและใบอย่างพวกขิงข่า กล่าวคือ ต้นเจริญเติบโตออกมาจากแง่งหรือหัวซึ่งฝังอยู่ในดิน ต้นกาหลามักขึ้นรวมกันอยู่เป็นกลุ่มเป็นกอ สูงประมาณ ๑-๑.๕ เมตร ใบสีเขียวเข้ม มีก้านใบทำหน้าที่เป็นกาบหุ้มลำต้น ลักษระใบแบนรูปหอก ปลายใบแหลม โคนใบสอบแคบเข้าหาก้านใบ ขนาดใบกว้างประมาณ ๖ นิ้ว ยาวประมาณ ๑๐-๑๔ นิ้ว

ดอกสีแดงสดหรือสีชมพู ออกดอกเดี่ยว มีกลีบซ้อนทับกันหลายชั้น กลีบชั้นนอกจะมีขนาดใหญ่และค่อยลดขนาดเล็กลงเป็นลำดับในวงกลีบชั้นใน กลีบดอกชั้นในสุดจะเปลี่ยนสภาพเป็นเกสร เกาะติดกันเป็นกระปุกยอดแหลมสวยงามมาก ขนาดดอกกว้างตั้ง ๔-๖ นิ้ว และเป็นดอกไม้ที่อยู่ทนได้หลายวัน

ดอกกาหลาจะแยกออกจากต้นต่างหาก ก่อนออกดอกจะแทงก้านดอกขึ้นมาจากโคนกอ ก้านดอกของกาหลามีลักษณะเป็นปล้องข้อคล้ายลำไผ่เล็กๆ สีเขียวสด มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑.๕-๒ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๑.๕ ฟุต หรือกว่านั้น ออกดอกในฤดูฝน ขยายพันธุ์ด้วยการแยกหน่อ เป็นไม้ชอบที่ร่มรำไร ชอบสภาพดินร่วนซุยที่มีความชุ่มชื้นมากๆ เป็นต้นไม้ที่มีกระจายพันธุ์อยู่ในเขตร้อนทั่วไป แต่นักพฤกษศาสตร์บางกลุ่มก็สืบความได้ว่า กาหลาเป็นพืชพันธุ์ที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในหมู่เกาะอินดีส

0 comments:

Post a Comment